วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555



วันเข้าพรรษา
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น

"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา"

ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้


นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศัรทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...

อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา

นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า – เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป - เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ในปี 2555 นี้ "วันเข้าพรรษา" จะตรงกับวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2555
วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมายาวนาน 

      อีกไม่กี่วันแล้วก็จะถึงงานเทศกาลวันลอยกระทง ซึ่งเป็นงานเทศกาลแห่งความสุขและรื่นเริง ลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมายาวนาน บ้างก็ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย บ้างก็ว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย เรียกได้ว่าเริ่มมีประวัติศาสตร์ชาติไทยขึ้นมาก็มีประเพณีลอยกระทงกันเลยทีเดียว 

ประวัติวันลอยกระทงและประเพณีลอยกระทง

การลอยกระทงมีวัตถุประสงค์ด้วยกัน 2 ประการ คือ
      1. เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท้องที่ถือว่าลอยกระทงเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในโอกาสที่พระพุทธองค์ได้ไปแสดงธรรมในนาคภิภพ และทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที (1) เพราะฉะนั้นการที่บ้านเรามีประเพณีลอยกระทง ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองก็เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในโอกาสนี้
 
      ส่วนทางเหนือนั้นมีประเพณียี่เป็ง มีทั้งลอยกระทงและลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งบรรจุอยู่ในจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เราจึงจุดประทีป ลอยโคม ส่งใจขึ้นไปบูชาพระเขี้ยวแก้วร่วมกับพระอินทร์ที่นำหมู่เทวดาบูชาพระเขี้ยวแก้วที่จุฬามณีในวันเพ็ญเดือนสิบสองนี้เช่นกัน

      ยี่เป็งสันทราย ได้จัดประเพณีลอยกระทง และลอยโคม ซึ่งเป็นภาพวัฒนธรรมไทยที่งดงามมากในสายตาของชาวโลก และยังได้มีการจัดลอยโคมที่มองโกเลีย และอินเดียเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่งใหญ่มาแล้วด้วย

      2. เพื่อบูชาพระแม่คงคา เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ เพราะมนุษย์เราอยู่ได้เพราะน้ำ ตั้งแต่โบราณมาชุมชนทั้งหลายเวลาสร้างเมือง ต่างก็เลือกติดแม่น้ำ ดังนั้นถึงเวลาในรอบ 1 ปี ก็เลือกเอาวันเพ็ญเดือนสิบสอง ระลึกว่าตลอดปีที่ผ่านมา เราได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต  ขณะที่ลอยกระทงเราก็นึกถึงคุณของน้ำ ไม่ใช่ลอยเฉยๆ ต้องรำลึกว่าต้องรู้จักใช้น้ำอย่างถูกวิธี และใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้ทิ้งขว้าง  ไม่ทำให้น้ำสกปรก ไม่ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ เป็นการขอขมาและขอบคุณพระแม่คงคา ไม่ใช่เป็นการไหว้เทวดาพระแม่คงคาแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ ในฐานะที่เป็นผู้ให้ชีวิตเรา
 

ความเป็นมาของเทศกาลวันลอยกระทง 
 

คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
 
1. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทม สินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
3. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไป จำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
4. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทาน ทีเมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
5. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของ พระพุทธเจ้า
6. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้อง ทะเลลึกหรือสะดือทะเล

ประวัติวันลอยกระทงในประเทศไทย

วันลอยกระทง 2554 
 
การลอยกระทงในประเทศไทยมีมาตั้วแต่ครั้งสุโขทัย 
 
      การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือ ลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานทีซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแค้วนทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา
 

การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

 
      เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์) 
      รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีเพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะบูชา
 
การลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ
 
      1. การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และ
      2. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก
 

ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี

ลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี

การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี